6 พฤศจิกายน 2565 ผู้บริหารและทีมงาน บริษัท แอปเปิ้ล สตาร์ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายสบู่ดิน ฮาล-คลีน อย่างเป็นทางการ มอบเงินบริจาคให้แก่ บ้านเด็กกำพร้า ณ มูลนิธิศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย

อิสลาม เป็นศาสนาที่ส่งเสริมให้มนุษย์มีความเมตตา โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ที่ยากจน แร้นแค้น ตกทุกข์ได้ยาก และผู้ที่อ่อนแอกว่า ดังนั้น การช่วยเหลือต่อเด็กกำพร้าจึงเป็นความรับผิดชอบสำหรับมุสลิมทุกคนที่มีความสามารถ

อิสลาม เป็นศาสนาที่ส่งเสริมให้คนในสังคมมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกำพร้า ซึ่งขาดบิดาผู้เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว เด็กกำพร้าบางคนขาดทั้งพ่อขาดทั้งแม่ ต้องอยู่ในความดูแลของย่าหรือยาย หรือญาติคนอื่นๆ ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากจนอยู่แล้ว จึงทำให้ชีวิตของเด็กกำพร้ามีแต่ความขาด มีแต่ความบกพร่อง ขาดอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดสภาพแวดล้อมที่ดีๆ ที่จะหล่อหลอมให้เขาเติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพ ที่สามารถช่วยประโยชน์ต่อสังคม

ดังนั้น อิสลามจึงมุ่งเน้นให้มุสลิมหันกลับมาให้ความสนใจต่อเด็กกำพร้า ซึ่งเขาเหล่านั้นรอคอยการช่วยเหลือ รอคอยความเอ็นดูเมตตาของพี่น้องมุสลิมของเรา ผู้ที่มีความจำเป็นในการช่วยเหลือเด็กกำพร้า คือ ผู้ที่ใกล้ชิดเขาที่สุดหากไม่ก็ผู้ที่ถัดมา หากยังไม่สามารถ หรือไม่ก็สำหรับผู้ที่รู้ข่าวคราวที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ กล่าวคือ เด็กกำพร้าจำเป็นจะต้องมีผู้ให้การช่วยเหลือ และการช่วยเหลือเด็กกำพร้า หมายถึง การช่วยเหลือในเรื่องความจำเป็นของชีวิตการศึกษา ศาสนา วิชาชีพ การหล่อหลอมขัดเกลาชีวิตของเขาให้อยู่ในครรลองของศาสนา และการช่วยเหลือนี้กับความเป็นอยู่รวมไปถึงการดูแลทรัพย์สินของเด็กกำพร้า สำหรับผู้ดูแลนั้นหากเขายากจน เขาสามารถจะใช้จ่ายส่วนตัวจากทรัพย์ของเด็กกำพร้าได้แต่ด้วยความชอบธรรม

อัลกุรอานได้กำชับต่อผู้ดูแลเด็กกำพร้าไว้ 2 ประการใหญ่ๆ คือ

อย่ากินทรัพย์สินเด็กกำพร้า กล่าวคือการเอาทรัพย์สินของเด็กกำพร้าโดยมิชอบธรรม ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ว่า “ แท้จริงบรรดาผู้ที่กินทรัพย์ของเด็กกำพร้าด้วยความอธรรมนั้น แท้จริงเขากินไฟเข้าไปในท้องของพวกเขาต่างหาก และพวกเขาก็จะเข้าสู่เปลวไฟ “ (อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 2)
เปลี่ยนทรัพย์ที่เลวของเขาด้วยทรัพย์ที่ดีของเด็กกำพร้า “ และจงให้แก่บรรดาเด็กกำพร้า ซึ่งทรัพย์สมบัติของพวกเขา และจงอย่าเปลี่ยนเอาของเลวด้วยของดี และจงอย่ากินทรัพย์ของพวกเขาร่วมทรัพย์ของพวกเจ้า แท้จริงมันเป็นบาปใหญ่ “ (อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 2)
อัลกุรอานและซุนนะห์ของท่านนบีได้ให้ความสำคัญต่อการอุปถัมภ์ และการให้ความสนใจต่อเด็กกำพร้าอย่างมากทีเดียว เสมือนดังอิสลามให้กำหนดกฎเกณฑ์ต่อประชาคมมุสลิม ให้เขารักษาสิทธิของเด็กกำพร้า จะสามารถใกล้ชิดกับอัลลอฮฺด้วยการให้ความเมตตาเอ็นดูต่อเด็กกำพร้า และจะได้ผลบุญมากมาย แม้เพียงเราเอาใจใส่ต่อความเดือดร้อนของพวกเขา การยิ้มแย้มต่อพวกเขา และแม้การลูบหัวของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งการปิติยินดี เช่น วันอีด ฯ ให้เขาคิดว่าถึงแม้ว่าเขาขาดพ่อไป แต่เขาก็ยังมีพี่น้องมุสลิมอีกมากมายที่เปรียบเสมือนพ่อของเขา คอยดูแลเมตตาและให้เขาได้มีวันอีดเหมือนเด็กอื่นๆ ที่มีพ่อแม่ และครอบครัวที่อบอุ่นและเพื่อเขาจะได้ไม่รู้สึกเป็นปมด้อย ยังมีหะดิษอีกหลายบทที่ให้ความสำคัญต่อเด็กพร้า เช่น

ท่านรอซูลุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า “ ฉันกับผู้ให้การอุปถัมภ์เด็กกำพร้าจะอยู่ด้วยกันในสวรรค์ดังเช่นนี้ “ แล้วท่านก็ชูนิ้วชี้ และนิ้วกลางขึ้นห่างกันเล็กน้อย
จากอิบนิอับบาส จากท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า “ ผู้ใดก็ตามที่เอาเด็กกำพร้าไปเลี้ยงอาหาร อัลลอฮฺก็จะให้เขาได้รับสวรรค์อย่างแน่นอน ยกเว้นเขากระทำความผิดที่มิอาจให้อภัย ”

ขอขอบคุณ อาจารย์ อามีน เหมเสริม และ ยาตีมทีวี สำหรับบทความฉบับนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *